หอฝิ่น เกิดขึ้นจากพระราชปรารภของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรบริเวณ สามเหลี่ยมทองคำ อันประกอบด้วยดินแดนของประเทศลาว พม่าและไทย ที่ชาวโลกรู้จักเพียงแค่เป็นที่ปลูกฝิ่น ผลิต และค้ายาเสพติดแหล่งใหญ่ อันเป็นเหตุให้ประเทศเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก จากการแก้ปัญหายาเสพติดของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โครงการในพระราชดำริของพระองค์ ที่สามารถลดอุปทาน (supply) ของการผลิตและค้าฝิ่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องมหันตภัยอันเกิดจากฝิ่นและสารเสพติดเพื่อลดอุปสงค์ (demand) ของการใช้สารเสพติดทั้งปวงด้วย
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินการตามพระราชปรารภ โดยจัดสร้างหอฝิ่นในพิื้นที่บริเวณบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับฝิ่น และสารเสพติดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2542 โดยตลอดระยะเวลา 6 ปี ของการก่อสร้างก็ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่ให้การสนับสนุนด้านการจัดหางบประมาณ ด้านข้อมูล รูปภาพ วัตถุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการจัดแสดงนิทรรศการ
หอฝิ่นจึงเป็นดอกผลแห่งแรงบันดาลใจในการสืบสานแนวพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2548 และได้รับรางวัล PATA Gold Award ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (PATA) ในปี พ.ศ. 2547 และรางวัลดีเด่นในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเพื่อนันทนาการ (The 6th Thailand Tourism Award 2006) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2549 และยังเป็นที่กล่าวขวัญว่า เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของเอเชีย